โหราศาสตร์คืออะไร
จรรยาบรรณโหร
การผูกดวง
ดาราศาสตร์แบบไทยๆ
เมื่อโลกเป็นศูนย์กลาง
ดูดาวเคราะห์จากจักรราศี
Horoscope
ตำนานดาวพระเคราะห์
จักรราศีวิภาค
คู่ธาตุ คู่มิตร คู่ศัตรู
ลัคนาและดวงชะตา
ดาวเกษตร ปรเกษตร
ดาวอุจ ดาวนิจ
มหาจักร ราชาโชค

สืบค้นข้อมูล
คำค้น

เกร็ดความรู้ด้านโหราศาสตร์ ที่เรารวบรวมนั้น บ้างก็มาจากเวปไซค์ต่างๆ จากตำราโหราศาสตร์ไทยบ้าง พยายามเขียนเองบ้าง เรียบเรียงใหม่บ้าง ทั้งนี้ก็เพื่อให้คนไทย ได้มีความเข้าใจ เกี่ยวกับศาสตร์นี้อย่างถูกต้อง มากขึ้น ขออภัยที่ไม่สามารถ แจ้งแหล่งที่มาได้

:: จักรราศีวิภาค ::

            บนท้องฟ้าเป็นวิถีโคจรของบรรดาดาวพระเคราะห์ทั้งหลาย มีพระอาทิตย์ (๑) เป็นประธานในเวลากลางวัน และมีพระจันทร์ (๒) เป็นประธานเวลากลางคืน เมื่ออาทิตย์โคจรไปรอบจักรราศีจะโคจรผ่านกลุ่มดาวประจำราศีทั้ง ๑๒ ราศี อาทิตย์โคจรผ่านราศีต่าง ๆ ราศีละ ๑ เดือน ครบรอบจักรราศีเป็นเวลา ๑ ปี ระยะการโคจรของอาทิตย์ที่ผ่านไปตามจักรราศีเรียกว่า สุริยคติกาล จักรราศีหนึ่งมีมุม ๓๖๐ องศา แต่ละราศี มีมุม ๓๐ องศา
                ราศีทั้ง ๑๒ ราศีมีชื่อเรียกตามกลุ่มดาวที่ประจำอยู่ ดังนี้
                ราศี ๐ ชื่อราศีเมษ          หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป เนื้อ
                ราศี ๑ ชื่อราศีพฤกศภ    หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป โค
                ราศี ๒ ชื่อราศีเมถุน        หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป คนคู่
                ราศี ๓ ชื่อราศีกรกฎ        หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป ปู
                ราศี ๔ ชื่อราศีสิงห์          หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป ราชสีห์
                ราศี ๕ ชื่อราศีกันย์          หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป นาง
                ราศี ๖ ชื่อราศีตุลย์            หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป ตาชั่ง
                ราศี ๗ ชื่อราศีพิจิก           หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป แมลงป่อง
                ราศี ๘ ชื่อราศีธนู             หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป คนถือธนู
                ราศี ๙ ชื่อราศีมังกร          หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป งูใหญ่ หรือมังกร
                ราศี ๑๐ ชื่อราศี กุมภ์        หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป คนถือหม้อ
                ราศี ๑๑ ชื่อราศีมิน            หมู่ดาวประจำราศีเป็นรูป ปลา


            ใน ๑๒ ราศีจะมีดาวพระเคราะห์ครองอยู่ทั้งสิ้น ดาวพระเคราะห์ที่ครองอยู่ตามราศีทั้ง ๑๒ ราศีนี้เรียกว่า เกษตร มีดังนี้
                อังคาร  (๓)            เป็นเกษตรประจำราศีเมษ และราศีพิจิก
                ศุกร์  (๖)                เป็นเกษตรประจำราศีพฤกศก และราศีตุลย์
                พุธ  (๔)                 เป็นเกษตรประจำราศีเมถุน และราศีกันย
                จันทร์  (๒)            เป็นเกษตรประจำราศีกรกฎ
                อาทิตย์  (๑)           เป็นเกษตรประจำราศีสิงห์
                พฤหัสบดี  (๕)       เป็นเกษตรประจำราศีธนู
                เสาร์  (๗)               เป็นเกษตรประจำราศีมังกร
                ราหู  (๘)               เป็นเกษตรประจำราศีกุมภ์

ตรียางค์ และนวางค์
            ในหนึ่งราศีมีมุมกว้าง ๓๐ องศา แบ่งออกเป็นสามส่วน แต่ละส่วนมีมุม กว้าง ๑๐ องศา เรียกว่าตรียางค์ ทุกตรียางค์มีดาวพระเคราะห์ครองทำนองเดียวกับเกษตรในแต่ละราศี ตรียางค์ที่หนึ่งเรียกว่า ปฐมตรียางค์ ตรียางค์ที่สองเรียกว่าทุติยตรียางค์  ตรียางค์ที่สามเรียกว่าตติยตรียางค์ ในจักรราศีมี ๓๖ ตรียางค์ด้วยกัน
            ในแต่ละตรียาค์ แบ่งออกเป็นสามนวางค์ แต่ละนวางค์มีมุม กว้าง ๓ องศา ๒๐ ลิบดา ดังนั้นในราศีหนึ่งจึงมีเก้านวางค์ แต่ละนวางค์มีดาวนพเคราะห์ครองเป็นเกษตร เช่นเดียวกับในตรียางค์ และในราศี

นักษัตร์ (ฤกษ์)
            นักษัตร์เป็นดาวอีกประเภทหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ดาวพระเคราะห์ ประชุมกันอยู่ตามนวางค์ทั้ง ๑๐๘ นวางค์รอบจักรราศีมีทั้งหมด  ๒๗ กลุ่ม แต่ละกลุ่มจะอยู่ใน ๔ นวางค์ มีชื่อเรียกตามลำดับ จากอัสวินีฤกษ์จนถึงเรวดีฤกษ์ กลุ่มดาวฤกษ์ที่ ๑ คืออัสวินีนักษัตรนั้น เริ่มตั้งแต่จุดแรกของราศีเมษ ไปจนถึงกลุ่มดาวฤกษ์ที่ ๒๗ อันเป็นจุดสุดท้ายของ เรวดีนักษัตร์ในราศีมิน
            กลุ่มดาวฤกษ์ที่ประชุมอยู่ในสี่นวางค์ นวางค์แรกเรียกว่า ปฐมบาท นวางค์ที่สองเรียกว่า ทุติยบาท นวางค์ที่สามเรียกว่า ตติยบาท และนวางค์ที่สี่เรียกว่า จัตตุถบาท
            กลุ่มดาวที่พระจันทร์โคจรผ่านเรียกว่า ฤกษ์ พระจันทร์โคจรผ่านตลอด ๒๗ กลุ่มดาวฤกษ์ เป็นเวลา ๑ เดือน เรียกว่า จันทรคติกาล
            ดาวพระเคราะห์ที่โคจรตามจักรราศีที่นำมาใช้ในวิชาโหราศาสตร์เดิมมีอยู่เพียงเจ็ดดวง คือ
                ดาวเสาร์ (เสารี)            ใช้แทนด้วย เลข ๗
                ดาวพฤหัสบดี (ชีโว)    ใช้แทนด้วย เลข ๕
                ดาวอังคาร (ภุมมะ)        ใช้แทนด้วยเลข ๓
                ดาวอาทิตย์ (สุริชะ)        ใช้แทนด้วยเลข ๑
                ดาวศุกร์ (ศุกระ)             ใช้แทนด้วยเลข ๖
                ดาวพุธ (พุธา)                  ใช้แทนด้วยเลข ๔
                ดาวจันทร์ (จันเทา)         ใช้แทนด้วยเลข ๒
            เป็นการเรียงลำดับ จากไกลมาใกล้ ส่วนราหูกับเกตุ ซึ่งใช้แทนด้วยเลข ๘ และเลข ๙ นั้น เป็นเพียงเงาของดาวพระเคราะห์อันเนื่องจากการโคจรของดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์ ซึ่งเป็นวงรีมีระนาบเอียงทำมุม ประมาณ ๕ องศา จึงเกิดจุดตัดของแนวโคจรดังกล่าว สองจุด จุดทางทิศเหนือของโลกเรียกว่า ราหู จุดทางทิศใต้เรียกว่าเกตุ ดังนั้นราหูกับเกตุ จะโคจรมีระยะห่างกันเป็นมุม ๑๘๐ องศาตลอดเวลาในลักษณะที่เล็งกัน ต่อมาในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ (ร.4) ได้มีการคำนวณดาวเกตุขึ้นใหม่โดยมีอัตราโคจรเร็วกว่าเดิมประมาณ 10 เท่า นับเป็นการพัฒนาวงการการโหราศาสตร์ไทยหนึ่ง ซึ่งในสมัยเดียวกันก็ได้มีการคำนวนดาวมฤตยู (๑๐) รวมเป็นดาวที่ใช้ในวงการโหราศาสตร์ไทย 10 ดวง