ฝัน
น. การเห็นเป็นเรื่องราวเมื่อหลับ ;
ก. เห็นเป็นเรื่องราวเมื่อหลับ ; นึกเห็น ; นึกเห็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้
ตามหลักพระพุทธศาสนา ความฝันเป็นสุบินวิถี วิถีจิตที่เกิดขึ้นขณะนอนหลับไม่สนิท
และเกิดขึ้นในมโนทวารโดยตรง แต่การนอนหลับไม่สนิทนั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่งซึ่งบอกเวลาว่าจะเกิดความฝันได้เท่านั้น
ยังมีเหตุอื่นๆ ที่ทำให้เกิดความฝันได้อีก ซึ่งจะได้แสดงให้เข้าใจในโอกาสต่อไป
ตามหลักพระอภิธรรม วิถีจิตที่เกิดขึ้นในขณะที่ฝันนี้เป็นกามชวนะที่เกิดในทางมโนทวาร
คือการรับกามอารมณ์ทางใจเท่านั้น วิถีฝันหรือสุบินวิถีไม่อาจเกิดทางปัญจทวารได้เลย
คนที่ยังมีกิเลสเท่านั้นที่หลับแล้วมีความฝันปรากฏ ส่วนพระอรหันต์ไม่มีความฝันเลย
ทั้งนี้เพราะท่านมีสติสมบูรณ์ที่สุด ท่านหยุดพักหลับหลังจากที่มีสมาธิมั่นคง
และไม่มีกามชวนะที่เกิดในทางทวาร
นิมิตที่เป็นความฝันของบุคคลนั้นอาจชัดเจนมาก อาจชัดเจนน้อย จำได้บ้าง จำไม่ได้บ้าง เป็นไปตามวาระของสุบินวิถี ซึ่งมี ๔ วาระได้แก่
- สุบินวิถีที่เป็น ตทาลัมพนวาระ
- สุบินวิถีที่เป็น ชวนวาระ
- สุบินวิถีที่เป็น โวฏฐัพพนวาระ
- สุบินวิถีที่เป็น โมฆวาระ
อธิบายได้ว่า
สุบินวิถีที่เป็นตทาลัมพนวาระและชวนวาระ คือความฝันที่สามารถรู้เรื่องราวได้ชัดเจนมาก
และชัดเจนน้อย คือเข้าถึงการเสวยอารมณ์นั้น ย่อมเป็นได้ทั้งกุศลทั้งอกุศล
เรียกสุบินวิถีทั้ง ๒ วาระนี้ว่า กุสลากุสลสุบินวิถี คือวิถีจิตที่เกิดขึ้นเป็นความฝันในเรื่องที่เป็นกุศลและอกุศล
บุญ บาป กุศล และอกุศลที่เกิดขึ้นในเวลาฝันในทั้ง ๒ วาระนี้ เจตนามีกำลังน้อย
ไม่แรงกล้าเหมือนเวลาที่เสวยอารมณ์ในขณะที่ตื่นอยู่ ฉะนั้นบุญและบาปที่ได้ในขณะฝันนี้
จึงไม่สามารถนำให้ไปปฏิสนธิในสุคติหรือทุคติได้ คงให้ผลได้บ้างในขณะปัจจุบัน
(ปวัตติกาล) เท่านั้น ไม่ถึงกับล่วงกรรมบถ เพราะเจตนาในขณะฝันนั้นได้เกิดขึ้นในขณะอารมณ์ที่ไม่ปรกติ
และจิตที่รับอารมณ์ก็ไม่ปรกติ จึงไม่เป็นกรรม
ส่วนสุบินวิถีที่เป็นโวฏฐัพพนวาระและโฆษวาระ เป็นความฝันที่ไม่เข้าถึงการเสวยอารมณ์
เพราะไม่สามารถรู้นิมิตในฝันได้ ดังเช่นความฝันที่ไม่อาจจำเรื่องราวอะไรได้
จึงจัดเป็นอัพยากตสุบินวิถี คือวิถีจิตที่เกิดขึ้นในขณะฝันอันไม่เป็นบุญไม่เป็นบาป
พระอรรถกถาจารย์เปรียบความหลับชนิดที่จะให้เกิดความฝันว่า เหมือนอย่างว่า
การหลับของลิงเป็นไปเร็ว ฉันใด การหลับที่ชื่อว่าเป็นไปเร็ว เพราะแทรกแซงด้วยจิต
มีกุศลจิต เป็นต้นบ่อยๆ ก็ฉันนั้น ในความเป็นไปของการหลับใด จิตย่อมขึ้นจากภวังค์บ่อยๆ
ผู้ประกอบด้วยการหลับนั้นย่อมฝัน ด้วยเหตุนั้น ฝันนั้นจึงเป็นกุศลบ้าง
อกุศลบ้าง อัพยากฤตบ้าง ในฝันนั้น พึงทราบว่าเป็นกุศลแก่ผู้ทำการไหว้เจดีย์
ฟังธรรม และแสดงธรรม เป็นต้น เป็นอกุศลแก่ผู้ทำปาณาติบาต เป็นต้น พ้นจากสองอย่างนี้เป็นอัพยากฤตในขณะอาวัชชนจิตนึก
และขณะตทาลัมพนจิตยึดฝันนั้นเป็นอารมณ์ ฝันนี้นั้นเพราะมีวัตถุเป็นทุรพล
จึงไม่สามารถจะชักปฏิสนธิของเจตนามาได้ ก็เมื่อเป็นไปแล้ว ฝันอันกุศลและอกุศลอื่นอุปถัมภ์ไว้ย่อมให้วิบาก
ให้วิบากก็จริง ถึงอย่างนั้น เจตนาในฝันก็เป็นอัพโพหาริก คือกล่าวอ้างไม่ได้เลย
เพราะเกิดในที่อันมิใช่วิสัย
เกี่ยวกับเวลาฝัน ฝันในเวลากลางวันย่อมไม่เป็นจริง แม้ฝันในปฐมยาม
มัชฌิมยาม และปัจฉิมยาม ก็ไม่เป็นจริงเช่นกัน
*